ห้องสมุดหลังที่ 23 เอไอเอ เปิดโลกการเรียนรู้สู่เด็กห่างไกล

โดย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เมื่อ 26 มิ.ย.2555

เหนือจากเอไอเอจะมีโครงการ "เอไอเอ สร้างรอยยิ้ม" ให้การสนับสนุนการผ่าตัดแก่ผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และ "เอไอเอ เพื่อก้าวใหม่ ชีวิตใหม่" มอบขาเทียมแก่คนพิการเพื่อให้สามารถเดินได้ตามปกติ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมหลักแล้ว

บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด หรือเอไอเอ ยังได้จับงานด้านการศึกษาอีกทางหนึ่ง คือการสร้างห้องสมุดให้กับโรงเรียน จนถึงตอนนื้ เอไอเอได้มอบห้องสมุดให้โรงเรียน 23 แห่งแล้ว โดยล่าสุดได้มอบให้กับโรงเรียนบ้านพรุดินนา จ.กระบี่

"สุทธิ รจิตรังสรรค์" รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหาร เอไอเอ ประเทศไทย กล่าวว่า ปกติได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนผ่านมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งมองว่าเป็นการให้เงินแล้วจบไป จึงต่อยอดมาทำห้องสมุดให้โรงเรียนที่เป็นเรื่องระยะยาวกว่า และเข้าถึงเด็กได้มากกว่า ขณะเดียวกันก็เห็นว่าโรงเรียนบางแห่งไม่มีห้องสมุด หรือมีแล้วก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะห้องสมุดที่ดี

"เราอยากให้เด็กได้รับสิ่งที่ดี ให้เขาได้เรียนรู้เหมือนเด็กที่อยู่ในเมือง จึงเริ่มทำโครงการตั้งแต่ปี 2548 ทำมาปีละ 3-4 แห่ง ไม่ได้วางเป้าหมายว่าต้องทำให้ครบกี่แห่ง แต่ทำไปเรื่อย ๆ ตามโอกาสที่มี เพราะอยากให้เป็นโครงการระยะยาว ซึ่งธุรกิจของเราเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคน จึงต้องช่วยดูแลสังคม เชื่อมโยงกับชุมชน ซึ่งกิจกรรมแบบนี้จะเป็นประโยชน์กับชุมชน แล้วพนักงานของเราก็เกิดความผูกพันกับสังคมด้วย"

เกณฑ์การมอบห้องสมุดจะคัดเลือกโรงเรียนที่ขาดแคลนห้องสมุดเป็นเบื้องต้น โดยต้องเป็นโรงเรียนที่สอนระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา 3 มีนักเรียน 300 คนขึ้นไป และอยู่ในเขตชุมชน โดยโรงเรียนต้องอนุญาตให้ประชาชนในชุมชนใช้ห้องสมุด และถือห้องสมุดนี้เป็นเหมือนห้องสมุดของชุมชนทางหนึ่ง ส่วนโรงเรียนที่มีห้องสมุดอยู่แล้ว จะย้ายไปอยู่ห้องสมุดใหม่ เพื่อง่ายต่อการจัดระบบ และการดูแลของบรรณารักษ์ โดยห้องสมุดเดิมก็จะปรับเปลี่ยนใช้ทำกิจกรรมอื่นต่อไป

นอกจากมอบห้องสมุดแล้ว ยังมอบหนังสือประเภทต่าง ๆ ตลอดจนถังเก็บน้ำไฟเบอร์กลาส ขนาดความจุ 2,500 ลิตร เพื่อให้ชาวบ้านได้เก็บน้ำสะอาดใช้ในหน้าแล้ง เนื่องจากบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

และขาดระบบจัดเก็บน้ำที่ดี จึงต้องซื้อน้ำใช้อยู่

"ที่ผ่านมา พบว่าห้องสมุดไม่ได้เป็นสถานที่อ่านหนังสืออย่างเดียว โรงเรียนบางแห่ง ครูอาศัยห้องสมุดเป็นสถานที่ทำกิจกรรมระหว่างเรียน และเมื่อให้ชุมชนได้เข้ามาใช้ห้องสมุดร่วมด้วย ผู้ปกครองจะได้ใช้เวลาในการอ่านหนังสือระหว่างมารอรับลูกหลาน และยังเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน โดยพบว่าชุมชนได้เข้ามาช่วยปรับปรุงสถานที่ให้โรงเรียน หรือนำหนังสือมาให้เพิ่มเติม"

อนึ่ง ห้องสมุดที่เอไอเอมอบให้แต่ละโรงเรียนจะมีรูปแบบเดียวกันหมด คือมีขนาด 54 ตร.ม. (ไม่รวมพื้นที่ระเบียง) ภายในจะมีชั้นวางหนังสือประมาณ 3-4 ชั้น, โต๊ะขนาดกลางพร้อมเก้าอี้นั่ง 2 ชุด ทั้งยังมีมุมนั่งเล่นของเด็ก และมุมของบรรณารักษ์ ซึ่งเทียบสัดส่วนของพื้นที่กับจำนวนเด็กแล้ว ถือว่าขนาดของพื้นที่ค่อนข้างเล็ก หากลักษณะการใช้ห้องสมุดเป็นการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนการใช้ หรือเข้ามายืมหนังสือแล้วออกไป คงไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าในช่วงเวลาว่างแล้ว นักเรียนจำนวนมากต่างเข้ามาหาความรู้พร้อมกัน ก็อาจเกิดความคับแคบอยู่บ้าง

ดังนั้น ถ้าปรับรูปแบบของห้องสมุดให้เป็นไปตามพื้นที่ใช้สอย และจำนวนนักเรียนของแต่ละแห่ง ก็จะเป็นการดี เพราะยิ่งมีพื้นที่กว้าง ก็จะสามารถมีพื้นที่สำหรับเด็ก หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น